AI

AI โปรแกรมสมองกลแสนฉลาดมีวิธีการทำงาน เหมือนสมองมนุษย์

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ โปรแกรมสมองกลแสนฉลาดมีวิธีการทำงานเหมือนสมองมนุษย์ที่สามารถคิดวิเคราะห์วางแผนและตัดสินใจ ได้โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่

ซึ่งปัจจุบันมันอยู่รอบตัวเราและใช้งานแทบทุกวัน อย่างเช่น SearchEngine เจ้ายักษ์อย่าง Google ในระหว่างที่เรากรอกคำค้นหาลงไป AI ของ Google ก็จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากคลังขนาดยักษ์ที่มีเว็บไซต์จำนวนมหาศาล และแสดงผลในสิ่งที่เราต้องการเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่ามนุษย์แบบเทียบไม่ติด ไม่ใช่แค่การค้นหาข้อมูล แต่ทุกความสามารถปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เรียนรู้ได้ทั้งหมด จนมีการทำนายไว้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลายอาชีพอาจจะถูกแย่งชิงในสักวัน

ครูหลายท่านอาจสงสัยว่า “เอไอ จะสามารถมาแทนที่ครูได้หรือไม่?”

ถ้าหากลองวิเคราะห์จากหน้าที่และคุณสมบัติครูแล้วคงต้องตอบว่าในมิติของการสอน พวกนวัตกรรมสมองกลเหล่านี้คงจะสามารถทดแทนคุณครูได้ในสักวันหนึ่ง โดยเฉพาะในรายวิชาความรู้ที่ตายตัวอย่างเช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์พื้นฐานหรือภาษาเบื้องต้น ที่องค์ความรู้ไม่มีเพิ่มและไม่ได้เรียนรู้ผ่านการตั้งคำถาม แต่สำหรับวิชาที่มีความซับซ้อน ต้องมีการใช้คำถามในการเรียนรู้ เช่นศิลปะสังคมวรรณกรรมวิชาชีวิตและประสบการณ์ชีวิต ซึ่ง เอไอ คงไม่สามารถทดแทนได้แน่ๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เทคโนโลยี เอไอ คงมีวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้แตกต่างออกไปในทิศทางที่ดีขึ้น และช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างแน่นอน

แล้ว เอไอ ช่วยอะไรครูได้บ้าง ?

1. ลดภาระครูด้วยระบบให้เกรดอัตโนมัติ

หนึ่งในสิ่งที่คุณครูหลายท่านรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่และกลายเป็นภาระหนักขึ้นในทุกวัน คือการที่ต้องตรวจข้อสอบและการบ้านหลายร้อยชุดในแต่ละสัปดาห์รวมไปถึงการรวมคะแนนนักเรียนเพื่อตัดเกรดตอนปลายภาค ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอน แม้ว่าในปัจจุบัน เอไอ จะยังไม่สามารถมาแทนการคิดเกรดของคุณครูได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มันจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตแน่นอน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดลองของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเช่น HarvardUniversityด้วยการสร้าง เอไอ เลียนแบบการประเมินนักเรียนของคุณครูโดยจะนำปัจจัยต่างๆ ในห้องเรียนมาวิเคราะห์ ซึ่งเทคโนโลยีการให้เกรดเริ่มเข้ามาในบ้านเราแล้วก็คือโปรแกรมการตรวจข้อสอบแบบปรนัย(เลือกช้อยส์) และตอนนี้ก็เริ่มมีโปรแกรมประมวลผลเกรดในระดับมหาวิทยาลัยแล้วด้วย ถ้าปัญญาประดิษฐ์นี้สำเร็จจะส่งผลให้คุณครูมีภาระงานลดลงและสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการสอนมากขึ้น

2. ช่วยออกแบบการสอน

ปัจจุบัน เอไอ สามารถสร้าง “เนื้อหาการสอน”ที่มีความสมบูรณ์เทียบเท่ากับครูที่เป็นมนุษย์ในเวลาที่น้อยกว่า แถมยังสามารถแปลงหนังสือเรียนเล่มนั้นให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงอายุได้อีกด้วย เช่น โปรแกรมฮิตอย่าง Cram101 ที่เป็น เอไอ ประมวลเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเรียน แล้วแสดงผลเป็นเนื้อหาผ่านการย่อยมาแล้วมีบทสรุปของทุกบทมีแบบทดสอบให้นักเรียนใช้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Netex Learning ที่คอยช่วยอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหลายชนิดเช่น สื่อเสียง วิดีโอ และมีผู้ช่วยออนไลน์

3. ระบบตอบข้อสงสัยให้กับนักเรียน

นักเรียนทุกคนจะได้รู้จักกับครูผู้ช่วยคนใหม่ที่มีชื่อว่า จิลล์วัตสัน ผู้ที่สามารถตอบคำถามทุกคำถามด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งนักเรียนสามารถถามคำถามกับเขาได้ตลอดเวลาเพราะครูผู้ช่วยคนนี้แท้จริงแล้วคือ เอไอ ที่บรรจุคำถามและคำตอบมากมายเกี่ยวกับวิชาที่เรียน นักเรียนจึงสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับวิชาเรียนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นการลดภาระในการตอบคำถามของคุณครูลงได้ทำให้คุณครูมีเวลาในการเตรียมตัวสอนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

AI

โดยล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI” จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ PLEARN Space ชั้น 1 อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการนำปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการเรียนการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการบุกเบิกในเรื่องการนำนวัตกรรม เอไอ มาใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์และนิสิตอย่างเต็มรูปแบบผ่านแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ เช่น ChatGPT มีการจัดกิจกรรม Chula Lunch Talk เพื่อเผยแพร่ความรู้ในแง่มุมต่างๆ โดยคณาจารย์จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการนำ เอไอ และ CHAT GPT มาใช้ในการเรียนการสอน นอกจากนี้จุฬาฯ จะให้ทุนสนับสนุนแก่คณาจารย์จุฬาฯ จำนวน 100 คน เพื่อนำ เอไอ และ CHAT GPT ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ภาพรวมและนโยบายของการใช้ GENERATIVE AI จะมุ่งเน้นไปที่ 2 หลักการคือ Embrace และ Understanding โดยจุฬาฯ จะสนับสนุนการใช้งานด้วยความเข้าใจ ไม่มีการบังคับ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหน้าสนับสนุนการใช้ Generative AI โดยขับเคลื่อนสนับสนุนให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรใช้ เอไอ อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในส่วนของผู้เรียน จะต้อง “ปรับใช้” เอไอ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่ “เข้าใจ” ว่า เอไอ มีความสามารถและข้อจำกัดอะไร “อ้างอิง” การใช้งาน เอไอ ให้ชัดเจน ถูกต้อง “ระมัดระวัง” ไม่นำข้อมูลลับเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์ สำหรับผู้สอน จะต้อง“ปรับใช้” เอไอ ในการเรียนการสอน “เข้าใจ” ถึงความสามารถและข้อจำกัดของ เอไอ “ออกแบบ” กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสม และ “ระบุ” ขอบเขตและแนวทางการใช้ เอไอ ในประมวลรายวิชา

ด้าน รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ Chief Learning Innovation Officer จุฬาฯ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาคมจุฬาฯ มีการเตรียมการอย่างไรไปแล้ว เช่น การจัด Lunch Talk เกี่ยวกับการใช้ CHAT GPT ในแง่มุมต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลักการในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลตลอดจนการทำงานให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ที่นอกจากจะกล่าวถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังของการใช้ ChatGPT , GENERATIVE AI แล้ว ยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องของหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ โดยทางจุฬาฯ ได้วางแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอาไว้ ได้แก่

1. การเรียนการสอนและการประเมินผล

– ผู้สอนควรเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกใช้ และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสมกับเครื่องมือนั้น

– ผู้สอนควรระบุในประมวลรายวิชาให้ชัดเจนถึงขอบเขตและแนวทางการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT, Google Bard ในรายวิชานั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนทราบ

– หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผู้สอนควรปรับวิธีการวัดประเมินผลให้เหมาะสม ไม่ควรประเมินผลโดยตรงจากงานที่นิสิตสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ตอบได้

2. การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์

– ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลงานที่ได้

– หากมีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานใด ให้อ้างอิงและระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตการใช้ในงานนั้น การปกปิดไม่แจ้งข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการละเมิดหลักจริยธรรมซึ่งอาจถูกลงโทษตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้

3. การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล

– ห้ามนำข้อมูลใด ๆ ที่เป็นความลับของหน่วยงานหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลโหลดเข้าไปในระบบงานปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ที่สนใจรับชม เสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI” ย้อนหลัง สามารถรับชมบันทึกการถ่ายทอดสดได้ทาง facebook.com/ChulalongkornUniversity

แหล่งข้อมูล

https://www.matichon.co.th/education

https://www.learneducation.co.th/ai-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95/

บทความข่าวสารอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ mathertechnologysolutions.com

แทงบอล

Releated